กระบวนการรัฐสภา ของ งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2563

วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผ่านวาระแรกด้วยคะแนนเสียง 251 ต่อ 0 โดยฝ่ายค้านงดออกเสียง 234 เสียง ทั้งนี้ พบว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่จากจังหวัดชลบุรีคนหนึ่งออกเสียงเข้ากับฝ่ายรัฐบาลโดยขัดผู้คุมเสียงในสภา[5]

ในวันเดียวกันมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สภาผู้แทนราษฎร โดยเลือกอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน[6] และมีชื่อธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ที่อยู่ระหว่างถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุติการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนคณะกรรมาธิการฯ คนนอก ด้านชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นว่า หากคุณสมบัติไม่ครบน่าจะมีการยืนเรื่องถึงตนแล้ว และบทบาทผู้แทนราษฎรกับกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นคนละเรื่องกัน[7] ทั้งนี้ ธนาธรจะไม่มีสิทธิ์ลงมติ[8]

ตามกำหนดการ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระหว่างวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึง 3 มกราคม พ.ศ. 2563 ก่อนจะมีการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 8 – 9 มกราคม พ.ศ. 2563[9] แต่ปรากฏว่าการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรได้ใช้เวลาถึง 4 วัน โดยไปสิ้นสุดในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2563 รวมถึงหลังจากลงมติแล้ว มีการแถลงจากสมาชิกพรรคต่าง ๆ รวมถึงมีการเปิดเผยคลิปจากสื่อมวลชนว่า พบการเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน หรือมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายดังกล่าวในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้จำนวน 8 คน คือ ฉลอง เทอดวีระพงศ์[10], นาที รัชกิจประการ[11], สมบูรณ์ ซารัมย์[12], ภูมิศิษฏ์ คงมี จากพรรคภูมิใจไทย[13], ถาวร เสนเนียม จากพรรคประชาธิปัตย์[14], ภริม พูลเจริญ[12], ทวิรัฐ รัตนเศรษฐ จากพรรคพลังประชารัฐ[15] และโกวิทย์ พวงงาม จากพรรคพลังท้องถิ่นไท[16] ซึ่งเท่ากับว่ากระบวนการตรากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้ ส.ส. ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านรวมจำนวน 193 คน แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 109 คน และฝ่ายค้านอีก 84 คน ลงชื่อยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกระบวนการตรากฎหมายและสถานภาพของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 148 ซึ่งชวนได้รับเรื่องและยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องและได้ให้รวมทั้ง 2 เรื่องเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 29 มกราคม[17] และมีการตัดสินเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ โดยมีมติเสียงข้างมาก 5:4 เสียง ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ในวาระที่ 2 และ 3 ใหม่ทั้งหมด แล้วส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อทันที[18] โดยสภาผู้แทนราษฎรได้เรียกประชุมเป็นพิเศษในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยที่ ส.ส. ฝ่ายค้านจะมาลงชื่อเป็นองค์ประชุม แต่หลังจากนั้นจะไม่เข้าร่วม และไม่มีการทิ้งบัตรไว้ในเครื่องลงคะแนน และร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ผ่านวาระที่ 3 ด้วยคะแนน 257 ต่อ 1 งดออกเสียง 3 เสียงจากองค์ประชุมในสภาทั้งหมด 261 คน[19]

จากนั้นวุฒิสภาได้รับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 มาพิจารณาต่อทันทีในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ผลปรากฏว่ามีมติเห็นชอบ 215 ต่อ 0 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง[20] และในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ใกล้เคียง

งบประมาณแผ่นดินของไทย งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2563 งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2558 งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2565 งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2564 งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2566 งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2567

แหล่งที่มา

WikiPedia: งบประมาณแผ่นดินของไทย พ.ศ. 2563 http://www.bb.go.th/ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/... https://thestandard.co/annual-expenditure-budget-2... https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/865513 https://www.naewna.com/politic/468140 https://www.posttoday.com/politic/news/604522 https://workpointnews.com/2019/10/02/five-budget/ https://workpointnews.com/2019/10/16/budget-2563/ https://www.komchadluek.net/news/politic/413694 https://www.prachachat.net/politics/news-421086